วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

7.กรอบแนวคิดในการวิจัย (conceptual framework)


               พิชิต  ฤทธิ์จรูญ (2550 : 9) แนวคิดหรือแบบจำลองที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยใช้ทฤษฎี ข้อสรุปเชิงประจักษ์ ข้อมูลจากสมมติฐานและผลงานวิจัยในอดีต นำมาสังเคราะห์เพื่อให้ได้ภาพรวมของงานวิจัยเรื่องนั้น เพื่อแทนความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในเรื่องที่ศึกษานั้นว่า มีแนวคิดที่สำคัญอะไรบ้างในปรากฏการณ์นั้น ตัวแปรหรือปรากฏการณ์เชื่อมโยงเกี่ยวกันอย่างไร เพื่อจะนำความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้ไปตรวจสอบข้อมูลเชิงประจักษ์ต่อไปว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่
               พัชรา  สินลอยมา (2551 : 2) กรอบของการวิจัยในด้านเนื้อหาสาระ  ซึ่งประกอบด้วยตัวแปร  และการระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร  ในการสร้างกรอบแนวคิดการวิจัย  ผู้วิจัยจะต้องมีกรอบพื้นฐานทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ศึกษาและมโนภาพ(concept)ในเรื่องนั้น  แล้วนำมาประมวลเป็นกรอบในการกำหนดตัวแปรและรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ  ในลักษณะของกรอบแนวคิดการวิจัยและพัฒนาเป็นแบบจำลองในการวิจัยต่อไป

                นงลักษณ์  วิรัชชัย ( 2538 : 22-29 ) แบบจำลองที่นักวิจัยสร้างขึ้นโดยใช้ทฤษฎีและผลการวิจัยในอดีตเพื่อแทนความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ระหว่างปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในธรรมชาติ และจะนำไปตรวจสอบว่ามีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์หรือไม่เพียงใด  ในรายงานการวิจัย  นักวิจัยนิยมเสนอกรอบความคิดในการวิจัยในรูปของโมเดล หรือแผนแสดงโครงสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างตัวแปรทั้งหมดที่ใช้ในการวิจัย  กรอบความคิดในการวิจัยนี้  จะลดรูปมาจากกรอบความคิดเชิงทฤษฎี (Theoretical  Framework) ในกรอบความคิดเชิงทฤษฏีจะรวมตัวแปรทุกตัวที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตัวแปรตามที่นักวิจัยต้องการศึกษา แต่ในการวิจัยนักวิจัยอาจพิจารณาควบคุมความแปรปรวนของตัวแปรบางตัว ทำให้อิทธิพลจากตัวแปรนั้นคงที่ หรือจำกัดขอบเขตการวิจัย ไม่ศึกษาตัวแปรทั้งหมดในกรอบความคิดเชิงทฤษฎี ตัวแปรที่เหลืออยู่ในกรอบความคิดในการวิจัย จึงอาจมีจำนวนน้อยกว่าตัวแปรในกรอบความคิดเชิงทฤษฎี

สรุป
              กรอบแนวคิดในการวิจัย (conceptual framework) หมายถึง แนวคิดหรือแบบจำลองที่แสดงถึงแนวคิดอันเป็นโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ โดยใช้ทฤษฎีและผลการวิจัยในอดีตเพื่อแทนความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ระหว่างปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในธรรมชาติ และจะนำไปตรวจสอบว่ามีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ต่อไปว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่  ในการสร้างกรอบแนวคิดการวิจัย  ผู้วิจัยจะต้องมีกรอบพื้นฐานทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ศึกษาและมโนภาพ(concept)ในเรื่องนั้น  แล้วนำมาประมวลเป็นกรอบในการกำหนดตัวแปรและรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ  ในลักษณะของกรอบแนวคิดการวิจัยและพัฒนาเป็นแบบจำลองในการวิจัยต่อไป

อ้างอิง

พิชิต  ฤทธิ์จรูญ.  (2550).  วารสารวิชาการบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. นครสวรรค์.

พัชรา สินลอยมา. (2551).  กรอบแนวคิดและการตั้งสมมติฐานการวิจัย.มหาวิทยาลัยศิลปากร.

นงลักษณ์  วิรัชชัย. (2538).  วารสารสมาคมวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร.


                                                                                                                       



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น